วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดขอนแก่น

บึงแก่นนคร

อำเภอเมือง จ.ขอนแก่น

บึง แก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ "เจ้าเพียเมืองแพน" ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมือง เพราะมีบรรยากาศสบายๆ พื้นที่โดยรอบมีการปรับปรุงตกแต่งให้เป็นสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่างๆ ดูเพลินตาเพลินใจ ยิ่งไปกว่านั้นทางเทศบาลยังปลูกต้นคูณ และไม้ดัดไว้โดยรอบเพิ่มความร่มรื่นสวยงาม ให้กับสถานที่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่น และร้านอาหารเปิดบริการหลายประเภทอีกด้วย

ผานกเค้า

อำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
ผา นกเค้า เป็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ริมลำน้ำพอง อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 125 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายขอนแก่น-วังสะพุง (หมายเลข 2 และ 201) ผานกเค้าอยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้านดงลาน ลักษณะของผานกเค้าเป็นภูเขาหินสีดำ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย บริเวณที่จะมองเห็นเค้าโครงของนกเค้าได้ชัดเจน ควรเดินเข้าไปในศูนย์เพาะชำกล้วยไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากถนน จะเห็นว่าลักษณะผาเหนือจะงอยปากขึ้นไปมีลักษณะเป็นหงอน ถัดลงมาเป็นหินกลมโค้งต่ำจากส่วนหงอนลงมาเป็นส่วนหัว ตรงกลางหัวมีรอยหินกะเทาะเป็นสีส้มอยู่ในตำแหน่งดวงตา ต่ำลงมาจากส่วนหัวจะถึงแนวปีกทั้งสองข้างที่กางออก


อุทยานแห่งชาติภูเวียง

อำเภอเวียงเก่า จ.ขอนแก่น
อุทยาน แห่งชาติภูเวียง เมื่อพูดถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียง นักท่องเที่ยวก็ต้องนึกถึงไดโนเสาร์ ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าบริเวณที่ราบสูงที่อยู่ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน นั้น จะเคยเป็นบ้านของไดโนเสาร์มาก่อนจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียม ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ระหว่างการสำรวจนักธรณีวิทยาได้ค้นพบซากกระดูกชิ้นหนึ่งเข้า และเมื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสวิจัย ผลปรากฏออกมาว่าเป็นกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์ จากนั้นนักสำรวจก็ได้ทำการขุดค้นกันอย่างจริงจังเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน
บนยอดภูประตูตีหมา หลุมขุดค้นที่ 1 ได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์หนึ่ง มีลำตัวสูงใหญ่ประมาณ 15 เมตร คอยาว หางยาว เป็นพันธุ์กินพืชซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน จึงได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเทพฯ มาตั้งชื่อ ไดโนเสาร์พันธุ์นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" (Phuwianggosauras Sirindhornae)และ ในบริเวณหลุมขุดค้นเดียวกันนั้นเอง นักสำรวจได้พบฟันของไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อปะปนอยู่มากกว่า 10 ซี่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโซโรพอดตัวนี้ อาจเป็นอาหารของเจ้าของฟันเหล่านี้แต่ในกลุ่มฟันเหล่านี้มีอยู่หนึ่งซี่ ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เมื่อนำไปศึกษาปรากฎว่าฟันชิ้นนี้เป็นลักษณะฟันไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อนเช่นกัน จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ นายวราวุธ สุธีธร ว่า "ไซแอมโมซอรัส สุธีธรนี่" (Siamosaurus Suteethorni) ผู้สนใจสามารถเดินไปชมได้ หลุมขุดค้นที่ 1 นั้นอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานและยังสามารถเดินไปชมหลุมขุดค้นที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย
ฟอสซิล "ไซแอมโมไทรันนัส อีสานเอ็นซิส" (Siamotyrannus Isanensis) เป็นสิ่งที่ชี้ว่าไดโนเสาร์จำพวกไทรันโนซอร์ มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชียเพราะฟอสซิลที่พบที่นี่เป็นชิ้นที่เก่าแก่ที่ สุด(120-130 ล้านปี) แต่กระดูกชิ้นนี้ได้นำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพฯ
บริเวณหินลาดป่าชาด หลุมขุดค้นที่ 8 พบรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวน 68 รอยอายุประมาณ 140 ล้านปี เกือบทั้งหมดเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์เล็กที่สุดในโลกเดิน 2 เท้า แต่หนึ่งในรอยเท้าหล่านั้น มีขนาดใหญ่ผิดจากรอยอื่น คาดว่าเป็นของคาร์โนซอรัส การไปชมควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ห่างจากที่ทำการ 19 กิโลเมตร ส่วนฟอสซิลดึกดำบรรพ์อื่นๆ ที่ขุดพบ เช่น ซากลูกไดโนเสาร์ ซากจระเข้ขนาดเล็ก ซากหอย 150 ล้านปี จะอยู่กระจัดกระจายกันอยู่ตามหลุมต่างๆ

ความน่าสนใจของที่นี่ ไม่ได้มีเพียงแต่ไดโนเสาร์เท่านั้น ยังมีการพบร่องรอยอารยธรรมโบราณด้วย โดยพบ "พระพุทธรูปปางไสยาสน์" ประติมากรรมนูนสูงสลักบนหน้าผาของยอดเขาภูเวียง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ลักษณะท่านอนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย พระเศียรหนุนแนบกับต้นแขนขวาแขนซ้ายทอดไปตามลำพระองค์ นอกจากนี้"ถ้ำฝ่ามือแดง" ที่บ้านหินร่องมีงานศิลปะของมนุษย์ถ้ำโบราณ ลักษณะของภาพเกิดจากการพ่นสีแดงลงไป ในขณะที่มือทาบกับผนังถ้ำก่อให้เกิดเป้นรูปฝ่ามือขึ้น

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในบริเวณอุทยานฯจะมีน้ำตกอยู่สองสามแห่ง "น้ำตกทับพญาเสือ" เป็นน้ำตกเล็กๆตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำฝ่ามือแดง "น้ำตกตาดฟ้า" เป้นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร สามารถเข้าถึงได้ทางรถยนต์อยู่ห่างจากอำเภอภูเวียง 18 กิโลเมตร และขึ้นเขาไปอีก 6 กิโลเมตร ตรงต่อไปจากน้ำตกตาดฟ้าอีก 5 กิโลเมตร จะถึง"น้ำตกตาดกลาง" นอกจากน้ำตกก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภอทุ่งหญ้าและลานหิน ซึ่งจะมีดอกไม้ป่านานาพันธุ์บานในช่วงหลังฤดูฝนได้แก่"ทุ่งใหญ่เสาอาราม" "หินลาดวัวถ้ำกวาง" และ"หินลาดอ่างกบ"
พื้นที่อุทยานฯครอบคลุมอำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ มีพื้นที่ 380 ตารางกิโลเมตร
การเดินทาง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 23 จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า“ปากช่องภูเวียง” ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่ เดินทางต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียงที่ “ภูประตูตีหมา” ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการ และซากกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์ที่ขุดพบบริเวณภูเวียง โดยมีคำอธิบายลักษณะและการเกิดซากต่างๆ เหล่านี้

หากประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ติดต่อได้ที่สำนักงานอุทยานฯ บริเวณภูประตูตีหมา โทร. 0 4324 9052 หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

อำเภอเวียงเก่า จ.ขอนแก่น
พิพิธภัณฑ์ ไดโนเสาร์ภูเวียง เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอนแก่น และกรมทรัพยากรธรณี เพื่อศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ ด้านทรัพยากรธรณีสู่สาธารณชน เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ของสังคมและส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป อาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบริการ ได้แก่ ร้านขายของที่ระลึก ขายอาหาร ห้องบรรยาย ส่วนวิชาการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ ห้องทำงาน ห้องสมุด และส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ห้องจัดแสดงชั้นล่างและชั้นบน พิพิธภัณฑ์ฯนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง กรมทรัพยากรธรณี โทร.0 4343 8204-6

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

อำเภออุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
อุทยาน แห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ครอบคลุมพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 320 ตารางกิโลเมตร หรือ 201,250 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 สภาพพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ใบไม้จะเปลี่ยนสีผลัดใบในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานจะอยู่บริเวณภูพานคำ ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์มีทิวทัศน์ที่สวยงามมากโดยเฉพาะเวลาพระ อาทิตย์ตก ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีสถานที่สำหรับตั้งค่ายพักแรมได้ สิ่งที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณภูเก้าในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ ร่องรอยก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนในสมัยบ้านเชียง เช่น ภาพเขียนสีและภาพสลักตามผนังถ้ำต่างๆ และรอยเท้าไดโนเสาร์ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพันธุ์เดียวกับรอยเท้าที่พบที่อำเภอภูเวียง เป็นต้น

การเดินทาง ใช้เส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากนั้นใช้เส้นทางอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือขึ้นรถโดยสารประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสังที่ตลาด อำเภออุบลรัตน์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

บางแสน 2 และหาดจอมทอง

อำเภออุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
บางแสน 2 และหาดจอมทอง ตั้งอยู่ที่บ้านหินเพิง ตำบลท่าเรือ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 53 กิโลเมตร บรรยากาศโดยรอบของชายหาดริมทะเลสาบน้ำจืดเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สวยสะดุดตาเมื่อพระอาทิตย์ฉายส่องลงมาในยามเย็น กระทบกับทิวเขาภูเก้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง กิจกรรมกีฬาทางน้ำที่น่าสนใจก็คือ การบริการให้เช่าจักรยานน้ำ, บานาน่า โบ๊ต, ห่วงยาง นอกจากนี้ยังมีบริการอาหารเลิศรส ที่ปรุงจากปลาภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ได้แก่ ปลานิล, ปลาตะเพียน, ปลาช่อน, ฯลฯ ช่วงเทศกาลสำคัญ หรือ วันหยุด มักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมธรรมชาติ และเล่นน้ำกันเป็นจำนวนมาก

พัทยา 2

อำเภอภูเวียง จ.ขอนแก่น
พัทยา 2 ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุงเซิน ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 78 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบขนาดประมาณ 20 ไร่ มักจะมีผู้คนท้องถิ่นมาพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนอกจากจะมีทัศนียภาพที่งดงาม โดยมีเทือกเขาภูพานคำตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังแล้ว ยังได้นั่งรับประทานปลาน้ำจืดนานาชนิด (ที่หาได้จากทะเลสาบนี้เอง) บรรยากาศที่เย็นสบาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางน้ำให้เลือกเล่นมากมาย เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน

การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 12 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 ตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนเกียรติสุรนนท์ ตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านค้อ และเลี้ยวซ้ายอีกทีตรงวัดโสภารัตนพัฒนาราม ตรงไปและเลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่ง

หมู่บ้านเต่า

อำเภอมัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
หมู่ บ้านเต่า จะมีเต่าบกชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า “เต่าเพ็ก”) ลักษณะกระดองจะมีสีเหลืองแก่ปนน้ำตาล อยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อรออาหารจากชาวบ้าน บ้างก็เดินอยู่ตามถนนภายในหมู่บ้าน ซึ่งจะหาดูได้ไม่ยาก เมื่อเดินทางไปถึงจากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2062 (ขอนแก่น-มัญจาคีรี) ประมาณ 54 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอมัญจาคีรี 2 กิโลเมตร) ถึงบริเวณบ้านกอก ปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าอยู่ด้านซ้าย จะสังเกตเห็นเป็นรูปเต่าจำลอง 2 ตัว วางอยู่บนแท่นหินสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดศรีสุมัง จากนั้น เลี้ยวซ้ายใช้เส้นทางลูกรังข้างวัด เข้าสู่เขตหมู่บ้านกอก ประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเต่า ปัจจุบันได้มีบริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 7222 7859 , 0 9574 3480

อุทยานกล้วยไม้ป่าช้างกระ วัดป่ามัญจาคีรี

อำเภอมัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
อุทยาน กล้วยไม้ป่าช้างกระ วัดป่ามัญจาคีรี อยู่บนถนนสายมัญจาคีรี-ชนบท ห่างจากตัวอำเภอมัญจาคีรี 1 กิโลเมตร หรือห่างจากขอนแก่นประมาณ 57 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นเนินดินขนาดใหญ่กลางทุ่ง มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้เก่าแก่จำนวนมากที่มีอายุหลายร้อยปี โดยเฉพาะต้นมะขาม และยังมีต้นตะโก กระถินป่า รวมประมาณ 280 ต้น มีกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ และเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 4,000 ต้น กล้วยไม้เหล่านี้จะเริ่มออกช่อในราวเดือนธันวาคม และดอกสีชมพูขาวจะชูช่อบานเต็มที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไปทั่วบริเวณ

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

อำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น
อุทยาน แห่งชาติภูผาม่าน รูปลักษณ์ภายนอกของอุทยานแห่งนี้ คือเทือกเขาหินปูนที่มีหน้าผาตัดตรงดิ่งลงมาเป็นริ้วๆคล้ายผ้าม่าน สภาพป่าของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศจะเย็นชื้นเกือบตลอดปี อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 218, 750 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานอยู่กระจัดกระจายกัน จึงแบ่งเส้นทางท่องเที่ยวได้สองเส้นทางดังต่อไปนี้
- เส้นที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน ไปตามเส้นทางชุมแพ - เพชรบูรณ์ (ทางหลวงหมายเลข 12) เลี้ยวขวาไปตามทาง สาย 201 ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางสู่ที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน

ถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่บนภูผาม่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 2.5 กิโลเมตรอยู่บริเวณหน้าผาด้านหน้าสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 100 เมตร เมื่อเข้าใกล้จะได้กลิ่นเหม็นของค้างคาว ปากถ้ำสามารถมองเห็นแต่ไกล ภายในถ้ำมีค้างคาวขนาดเล็กอาศัยอยู่นับล้านๆ ตัว ภายในถ้ำมีกลิ่นเหม็นฉุนจัด ทุกวันค้างคาวจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ 18.00 น. ตอนบินออกจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที โดยจะบินออกเป็นกลุ่มยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถมานั่งพักผ่อน และชมความอัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่มีค้างคาวอยู่รวมกันนับล้าน ไปพร้อมกัน

ถ้ำพระ อยู่ ใกล้เคียงกับถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำที่มีลักษณะยาวเฉียงขึ้นด้านบน สามารถเดินทะลุถึงยอดภูผาม่านได้แต่เส้นทางค่อนข้างลำบากภาย ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีเสาหินขนาดใหญ่ รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี แต่เหมาะที่จะท่องเที่ยวในฤดูหนาว เนื่องจากในฤดูฝนมีน้ำไหลผ่านถ้ำทำให้มีตะไคร่จับก้อนหิน

โครงการพัฒนาป่าดงลาน 4 ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบหมู่ 1 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯ ประมาณ 14 กิโลเมตร ที่นี่เป็นที่ทำการของหน่วยงานกรมป่าไม้ บริเวณรอบๆ เงียบสงบ อากาศหนาวเย็น มีบ้านพักรับรองแขกได้ประมาณ 30-50 คน นอกจากนั้นยังมีห้องประชุมขนาดย่อม เหมาะสำหรับผู้ที่มาพักผ่อนเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4324 9001

ถ้ำภูตาหลอ ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯ 17 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้เฉพาะในฤดูแล้ง เป็นถ้ำที่โอ่งโถง พื้นที่ประมาณไร่เศษ เพดานถ้ำสูงประมาณ 5-7 เมตร มีหินงอกหินย้อยซึ่งยังอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ พื้นถ้ำเป็นดินเรียบอากาศภายในเย็นสบาย หินบางก้อนมีลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน

น้ำตกตาดฟ้า เป็น น้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้า ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในท้องที่บ้านดงสะคร่าน หมู่ 7 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 40 กิโลเมตร รถสามารถเข้าไปถึงแค่บ้านตาดฟ้า หลังจากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปอีก มีน้ำตกทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดคือ ชั้นสุดท้ายซึ่งมีความสูงประมาณ 80 เมตร ฤดูที่น้ำตกตาดฟ้าจะสวยที่สุดคือฤดูฝน

- เส้นสำนักงานอุทยานฯ ตรงต่อมาจากเส้นทางเดิม ตามทางหลวงหมายเลข 201

ถ้ำพญานาคราช ภายในมีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นริ้วคล้ายม่าน ประดับด้วยเกร็ดประกายแวววาวของหินแร่สวยงามมาก ถ้ำนี้มีความคดเคี้ยวคล้ายดั่งตัวพญานาค ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

ถ้ำลายแทง อยู่ถัดจากถ้ำพญานาคราชมาประมาณ 800 เมตร มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำกว้างประมาณ 2 ตารางเมตร ภาพมีลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน สัตว์และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70 ภาพ เมื่อชาวบ้านมาพบคิดว่าเป็นลายแทงบอกสมบัติจึงเรียกว่าถ้ำลายแทง

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือ “น้ำตกตาดร้อง” หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า “น้ำตกตาดฮ้อง” อยู่ในเขตจังหวัดเลยระหว่างรอยต่ออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และอุทยานแห่งชาติภูผาม่านและลำน้ำพอง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 70 เมตร เล่ากันว่าน้ำตกแห่งนี้ร้องได้ เพราะบริเวณใต้น้ำตกมีแผ่นหินขนาดใหญ่ยื่นออกมารองรับน้ำตก เปรียบเสมือนลิ้นขนาดใหญ่เวลาน้ำตกลงมากระทบแผ่นหิน และแฉลบไปตามซอกหินต่างๆ ทำให้เกิดเสียงดังประหลาดก้องไปทั่วป่า
ที่ อุทยานแห่งนี้ยังไม่มีที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

ปราสาทเปือยน้อย

อำเภอเปือยน้อย จ.ขอนแก่น
ปราสาท เปือยน้อย ถึงแม้จะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับปราสาทหินพิมาย หรืออีกหลายแห่งที่พบทางอีสานตอนใต้ แต่ก็นับเป็นปราสาทเขมรที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง ปราสาทเปือยน้อย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุกู่ทอง สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะเขมรแบบบาปวนและแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู แผนผังการก่อสร้างมีความหมายเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนจักรวาลอันเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าที่เรียกว่า “ศาสนบรรพต” สิ่ง ก่อสร้างภายในบริเวณปราสาท เป็นไปตามแบบแผนของศาสนสถานขอมโบราณ หน้าบันขององค์ปรางค์ประธานสลักเป็นพระยานาคราชมีลวดลายสวยงามมาก ทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่นับว่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ "โคปุระ" (ซุ้ม ประตู) อยู่ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ด้านข้างโคปุระเจาะเป็นช่องหน้าต่าง "กำแพงแก้ว" มีฐานเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีการสลักศิลาแลงเป็นร่องแบบลาดบัว

การเดินทางจาก ขอนแก่นจะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-บ้านไผ่) ระยะทาง 44 กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข 23 (บ้านไผ่-บรบือ) ไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อยอีก 24 กิโลเมตร

หมู่บ้านงูจงอาง

อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น
หมู่ บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า ต.ทรายมูล ชาวบ้านโคกสง่าแต่เดิมมีอาชีพขายยาสมุนไพร ควบคู่กับการทำนามาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การขายยาสมุนไพรในสมัยก่อน ต้องเดินเท้าไปเร่ขายยาตามหมู่บ้านต่างๆ ด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปีพ.ศ. 2494 พ่อใหญ่เคน ยงลา หมอยาบ้านโคกสง่า จึงได้คิดหางูเห่ามาแสดงเพื่อเป็นการดึงดูดคนมาดู แทนที่จะต้องเดินไปขายยาในทุกๆ หมู่บ้านเช่นเคย ปรากฏว่าการแสดงประสบความสำเร็จ สามารถเรียกคนมาดูได้มากพอสมควร แต่เนื่องจากงูเห่านั้นมีอันตรายมาก สามารถพ่นพิษได้ไกลถึง 2 เมตรพ่อใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอางแสดงแทน และถ่ายทอดวิชาแสดงงูให้คนในหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรชาวบ้านจะรวมกลุ่มเดินทาง ออกเร่แสดงงูเพื่อขายยาสมุนไพร ส่วนการแสดงที่หมู่บ้านนั้นจะจัดขึ้นบริเวณลานวัดศรีธรรมา และรอบๆ บริเวณก็จะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงูจงอาง รวมทั้งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงงูจงอางอยู่ด้วย ปัจจุบันการแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้าน มีการจัดแสดงหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนสนใจยิ่งขึ้น เช่นการแสดงละครงูตามจังหวะเพลง การชกมวยระหว่างคนกับงูจงอาง จนชาวบ้านที่มีชื่อเสียงทางการแสดงงูมีฉายาประจำ เช่น กระหร่องน้อย เมืองอีสาน, ทองคำ ลูกทองชัย ฯลฯ ผู้สนใจทั่วไปจะเข้าชมการแสดงงูจงอาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายทา บุตตา ประธานชมรมงูจงอางบ้านโคกสง่า อำเภอน้ำพอง โทร. 0 1974 9499 หรือนายศิริศักดิ์ น้อยเล็ก รองประธาน โทร. 0 6219 0428

เมืองโบราณโนนเมือง

อำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น
เมือง โบราณโนนเมือง เป็นการพบร่องรอยทางโบราณคดี ยุคสมัยศิลปะทวารวดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งความจริงสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่นได้จัดเป็น โบราณสถานที่สำคัญของขอนแก่นไว้นานแล้ว แต่เพิ่งจะขุดค้นพบเป็นบางส่วนไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525 พบว่าใต้ดินลึกลงไปจากบริเวณโนนเมือง เป็นร่องรอยถิ่นฐานของสังคมประวัติศาสตร์สมัยหนึ่งในอดีต เมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า โนนเมือง เขตบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพ ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 80 กิโลเมตร เดิมทีชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่าบริเวณเนินดินกว้าง ที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองเก่าเมืองโบราณ จากการสำรวจของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น พบในเสมาหินทรายศิลปะทวารวดี 3 ใบ ตั้งใกล้เคียงและบนผิวพื้นดินทั่วไปของเนิน พบเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีด และลายเชือกทาบลักษณะของเนินเป็นเนินดินรูปไข่ พื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีคูเมือง 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตรการขุดค้นของสำนัก โบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น โดยเปิดหลุมขุด 2 หลุมขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ได้พบว่าตรงความลึกประมาณ 270 เซนติเมตร เป็นโครงกระดูกมนุษย์ ที่มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ ที่มีธรรมเนียมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมกับศพ เช่น หม้อและภาชนะดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด ลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์เช่น กระดูกหมู กระดูกควาย เขากวาง และกระดองเต่าใกล้กับโครงกระดูกด้วย สำหรับหลุมแรกพบโครงกระดูกจำนวน 5 โครงและหลุมที่ 2 จำนวน 2 โครง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เพียงสันนิษฐานว่าโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบน่าจะเป็นคนในยุคสมัยทวารวดี จนกว่าจะมีการพิสูจน์ วิเคราะห์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องด้านโบราณคดีต่อไปในภายหลัง
การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12 ) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น